หลังนายกฯพิจารณาลงนามกฎหมายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถบนทางสาธารณะแล้ว เตือนไม่ว่าผู้ขับและผู้ไม่ได้ขับโดนหมดมีโทษทั้งจำ-ปรับ ผู้เกี่ยวข้องออกโรงสนับสนุน
วันนี้ (9 ส.ค.) นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการใช้ร่างประกาศตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เรื่อง การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะ ขณะขับขี่หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถทุกประเภท ซึ่งหมายรวมถึงท้ายรถด้วยว่า ขณะนี้ประกาศเรื่องดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย หลังจากพิจารณาเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าว และเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามแล้วจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที ทำให้ตั้งแต่นี้ต่อไป ผู้ที่ขับขี่หรือผู้ที่ไม่ได้ขับขี่ ที่อยู่ในรถ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะจะผิดกฎหมายทันที โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.สมาน กล่าวอีกว่า สำหรับบทลงโทษผู้กระทำผิดตามประกาศดังกล่าวนั้น ในกฎหมายระบุชัดถึงการห้ามผู้บริโภคที่อยู่บนรถทุกประเภทที่อยู่บนท้องถนน เว้นรถไฟ รถราง ซึ่งในการพิจารณาความผิดต้องดูก่อนว่า อยู่บนรถที่อยู่บนท้องถนนสาธารณะหรือไม่ ซึ่งถนนสาธารณะรวมถึงทางเท้า และไหล่ทาง หากพบว่าผู้ดื่มเข้าข่ายฝ่าฝืนตามข้อห้ามก็ถือว่าผิด โดยจะเอาผิดเฉพาะคนดื่ม เจ้าของรถ หรือคนข้างเคียงไม่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม แต่หากดื่มในซอยบ้าน ทว่าซอยดังกล่าว เป็นถนนที่คนใช้จำนวนมาก ถือเป็นสาธารณะก็ผิดเช่นกัน เว้นแต่ดื่มในรถที่จอดหน้าบ้าน ให้ละเว้นไม่ผิดตามกฎหมาย
ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่เห็นความสำคัญและทำกฎหมายให้เป็นจริง เครือข่ายเชื่อว่าจะช่วยลดสถิติการเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บ ในทุกช่วงโดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เพราะที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตสูงเฉลี่ยวันละ 60-66 ราย ส่วนวันธรรมดาจะมีประมาณ 30 ราย รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายแสนล้านบาทต่อปี โดยที่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้รับผิดชอบใดๆ ที่สำคัญมักพบว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม ต้องตกเป็นเหยื่อจนกลายเป็นคนพิการ หวังว่ากฎหมายนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงของคนไทย และประสิทธิภาพในการผลิตของผู้ใช้แรงงาน นายจ้างได้
"เราผลักดันเรื่องนี้นานกว่า 3 ปี มาสำเร็จในรัฐบาลนี้ แต่แม้จะมีกฎหมายนี้แล้ว การบังคับใช้ก็ต้องจริงจังและเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดจุดอ่อน สามารถพิสูจน์ผลงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เครือข่ายยังหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก เพื่อลดปัญหา สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน" นายจะเด็จกล่าว
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวถือเป็นการลดช่องทางในการเข้าถึงและจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยเป็นเกราะปกป้องคนที่ไม่ดื่ม ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้สร้างความสูญเสียเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ ดังนั้น กฎหมายนี้จะสามารถนำมาแก้ปัญหาได้เป็นรูปธรรม แต่ถ้าจะให้ได้ผลยิ่งขึ้นต้องมีมาตรการเสริมเรื่องการจำกัดการซื้อ การออกใบอนุญาตขายร่วมด้วย และว่าสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการต่อไปคือ การสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ให้กว้างขวางที่สุดเพื่อรับมือกับช่วงปีใหม่ที่จะมาถึง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 3 ฉบับ โดยอีก 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างประกาศ ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานอุตสาหกรรม ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน 2.ร่างประกาศ ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ ยังไม่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
พ.ต.ท.หญิง แพทย์หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษก ตร. กล่าวถึงประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องห้ามดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่รถหรือโดยสารรถส่วนตัว และรถประจำทาง หากฝ่าฝืนจะถือว่าได้กระทำผิดกฎหมาย นอกจากโทษจำคุก และปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงจะถูกควบคุมความประพฤติอีกด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่ากลุ่มที่มักจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นกลุ่มที่ขับขี่รถทัวร์หรือผู้โดยสารรถทัวร์..
ที่มา : Dailynews Online.
ที่มาของภาพ : Clip VDO รณรงค์เมาไม่ขับของ สสส.
วันนี้ | 23 | |
เมื่อวาน | 72 | |
สัปดาห์นี้ | 321 | |
สัปดาห์ที่แล้ว | 1222 | |
เดือนนี้ | 321 | |
เดือนที่แล้ว | 3899 | |
รวม | 2708781 |